งานและความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ของ แบนด์ มิคาเอล โรเดอ

1. เป็นผู้ริเริ่มการประสานงานการจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับออสเตรีย ซึ่งเป็นการนำไปสู่ข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างไทยกับออสเตรีย ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างกระทรวงการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสาธารณรัฐออสเตรีย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะระหว่างไทยกับออสเตรียให้กว้างขวางและเหมาะสมยิ่งขึ้น

2. เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะระหว่างไทยกับออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2539 โดยมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน พิจารณาและเสนอความเห็นในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะระหว่างไทยกับออสเตรีย โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ อันจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรียให้กว้างขวางและเหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานในทุกรูปแบบ เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยมีโอกาสได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ทางวิชาการชั้นสูง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสถาบันและพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการต่างๆ ประกอบด้วย

2.1 โครงการความร่วมมือทางวิชาการ เป็นโครงการที่ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก และทุนฝึกอบรม/วิจัย แก่บุคลากรของไทย รัฐบาลออสเตรียจะสนับสนุนด้านงบประมาณในทุกรายการ ยกเว้นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศ โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 82 ทุน ทุนฝึกอบรมวิจัย จำนวน 82 ทุน และทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จำนวน 10 ทุน

2.2 โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรีย ทุนนี้จะจัดสรรให้แก่อาจารย์และข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ในออสเตรีย เป็นระยะเวลา 1 - 2 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้อาจารย์และข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการแล้วนำกลับใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนค่าเดินทางไป-กลับ ส่วนค่าที่พักและอาหารในออสเตรีย รัฐบาลออสเตรียเป็นฝ่ายรับผิดชอบ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ไทยในโครงการนี้ไปแล้ว จำนวน 195 คน และนักวิทยาศาสตร์ออสเตรีย จำนวน 78 คน

2.3 โครงการเชิญศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Guest Professors) ชาวออสเตรียมาให้บริการทางวิชาการ 16 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์สัตวแพทยศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ บัญชี ภาษา อัญมณีและเครื่องประดับ สาขาศิลปและดนตรี ให้มาทำการสอนในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะติดต่อขอประวัติและทำหนังสือตอบรับคำเชิญของศาสตราจารย์อาคันตุกะ โดยผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลออสเตรียในขั้นตอนสุดท้ายมีศาสตราจารย์อาคันตุกะชาวออสเตรียมาให้บริการทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย/สถาบันไทยหลายแห่งแล้ว เป็นจำนวน 28 ราย

3. เป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินงานทุนความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรีย ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้สมัครรับทุนภายใต้โครงการต่างๆ โดย Prof. Rode จะเดินทางมาประเทศไทยปีละ 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ และสิงหาคมของทุกปี เพื่อทำหน้าที่อนุกรรมการและกรรมการในการคัดเลือกผู้สมัครรับทุนดังกล่าวข้างต้น โครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรียได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการต่างๆ เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการทั้งในด้านการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี

4. เป็นประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยของออสเตรีย และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Austrian-South-East Asian University Network, ASEA-UNINET)ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2537 และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยที่ประชุมอธิการบดีของออสเตรียได้ประกาศให้ประเทศทั้ง 3 ได้แก่ ประเทศไทยประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเวียดนาม ให้เป็นประเทศเป้าหมายหลักในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ปัจจุบันโครงการ ASEA-UNINET ประกอบด้วย สมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศอินโดนีเซีย 4 แห่ง มหาวิทยาลัยประเทศเวียดนาม 5 แห่ง และมหาวิทยาลัยของประเทศไทย 15 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2539 ที่ประชุม ASEA-UNINET ได้ประกาศรับสมาชิกเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยของทุกประเทศในทวีปยุโรปและมหาวิทยาลัยของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้มีสถาบันการศึกษาในประเทศต่างๆ เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมคือ มหาวิทยาลัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี สวีเดน สเปน เดนมาร์ค สาธารณรัฐเช็ค ฟิลิปปินส์ มีสมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมประมาณ 50 แห่ง จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อไปปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศออสเตรียแล้ว 195 คน และมีนักวิทยาศาสตร์ออสเตรียเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย จำนวน 78 คน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกำหนดสาขาความร่วมมือที่จะให้ความสำคัญในลักษณะเครือข่าย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ทรัพยากร ความช่วยเหลือและความร่วมมือทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวางในสาขาวิชาต่อไปนี้ คือ
1. วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (รวมทั้ง Software Engineering และ Computer Assisted Chemistry
2. เกษตรและเทคโนโลยีอาหาร
3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
4. แพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
5. เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
6. เทคโนโลยีชีวภาพ
7. เศรษฐศาสตร์การท่องเที่ยวและการจัดการ
8. ภาษา ภาษาศาสตร์และการแปล
9. โทรคมนาคม
กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการภายใต้เครือข่ายความร่วมมือ อาทิ
- โครงการวิจัยร่วมในสาขาที่ให้ความสำคัญ (focus areas) มากกว่า 20 โครงการ
- การแลกเปลี่ยนบุคลากร (โครงการศาสตราจารย์อาคันตุกะ, โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์)
- ทุนการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
- การจัดหลักสูตรฝึกอบรม
- การแลกเปลี่ยนนักศึกษา

5. เป็นหัวหน้าโครงการความร่วมมือคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินสบรุกค์ ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งสอง เมื่อปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมี Prof. Rode เป็นผู้ประสานงานความร่วมมือดังกล่าวในด้านต่างๆ ดังนี้ คือ

5.1 เพื่อประโยชน์ร่วมกันของอาจารย์และนักศึกษาในด้านการสอนและการวิจัย

5.2 จะมีการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์อาวุโสและอ่อนอาวุโส ตลอดจนแลกเปลี่ยนนักศึกษา ในลักษณะของอาจารย์รับเชิญ โครงการวิจัยร่วม การฝึกอบรม และโครงการศึกษาในระดับปริญญาและบัณฑิตศึกษา การรับรองหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรมที่จัดขึ้นภายใต้ข้อตกลงนี้ ซึ่งจะต้องรับรองโดยคณบดีของทั้งสองสถาบัน โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย อินสบรุกค์ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5.3 สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาของทั้งสองคณะเข้าร่วมในโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงนี้ โดยมีอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมไปดูงานระบบการเรียนการสอน จำนวน 2 คน ณ มหาวิทยาลัยอินสบรุกค์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์

5.4 แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ และสาขาที่สนใจระหว่างสถาบันและโรงพยาบาล ที่มีความร่วมมือกันภายใต้ข้อตกลงนี้ โดยมีการทำวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ของไทย จำนวน 2 คน และมีนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินสบรุกค์ มาฝึกอบรมและปฏิบัติงานวิจัยด้าน Oral Manifestations of Tropical Disease ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

6. ขณะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิชาการให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการริเริ่มผลักดัน และลงมือปฏิบัติโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ทำให้เกิดศูนย์กลางวิจัยและฝึกอบรมทางด้านคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคนี้ และยังมีส่วนในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านอื่นๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดศูนย์สารสนเทศทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและพิบัติภัยทางธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

7. เป็นผู้ริเริ่มโครงการ “ASEA-UNINET Programme Thailand on Place Scholarships Cambodia-Laos-Myanmar” โดยรัฐบาลออสเตรียร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เป็นสมาชิกเครือข่าย ASEA-UNINET ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ให้มาศึกษาหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโท ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ณ สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 และหากนักศึกษาที่ได้รับทุนมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี รัฐบาลออสเตรียจะให้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศออสเตรียต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

Prof. Rode ได้อุทิศตนเพื่อการสอนและการวิจัยด้านเคมีคอมพิวเตอร์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ไทย - ออสเตรีย เพื่อการศึกษาและการวิจัยที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งทำโครงการเสนอไปยังรัฐบาลออสเตรียเพื่อมอบอุปกรณ์เงินทุนต่างๆ ให้แก่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทุนการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับนิสิตไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรีย เป็นผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 4 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเวียนนา และมหาวิทยาลัยอินสบรุกค์ แลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง และยังได้เป็นประธานจัดการประชุมนานาชาติทางเคมีขึ้นที่กรุงเทพฯ จนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี และรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบทุนการศึกษาให้กับนิสิตภาควิชาเคมี รวมทั้งทุนไปศึกษาต่อและทำวิจัย ณ ประเทศฝรั่งเศสด้วย


แหล่งที่มา

WikiPedia: แบนด์ มิคาเอล โรเดอ http://www.uibk.ac.at/ipoint/blog/1057170.html http://www.uibk.ac.at/ipoint/news/uni_und_auszeich... http://www.uibk.ac.at/ipoint/news/uni_und_gesellsc... http://www.uibk.ac.at/public-relations/medien/dank... http://science.apa.at/site/natur_und_technik/detai... http://www.bundespraesident.at/newsdetail/artikel/... http://www.bmeia.gv.at/botschaft/bangkok/bilateral... http://www.oead.at/index.php?id=420&L=1 http://www.theochem.at/molvision/ http://www.theochem.at/theochem/html/usercv.php?us...